วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2552

พระนารายณ์


พระนารายณ์
พระนารายณ์ ทรงอยู่ในตำแหน่งพระผู้เป็นเจ้า ผู้ถนอมโลกองค์หนึ่งแห่งพระเป็นเจ้าทั้ง 3 ของ พราหมณ์ นามของเธอมีนับพัน คือเรียกตามฤทธิ์ ตามเดช ตามเหตุการณ์ที่ใช้เรียกอยู่เสมอนั้น เช่น วิษณุ หรือ พิษณุหริ (ผู้สงวน) อนันตไศยน (นอนบนอนันตนาค) ลักษมีบดี (ผัวลักษมี) จัตุรภุช (สี่กร)

ในฤคเวท พระนารายณ์มีนามเพียง พิษณุ และมิได้เป็นเทวดาชั้นสูงอย่างไร เป็นเพียงองค์กำลัง ของดวงตะวันเท่านั้น ในยุคไตรเพทปรากฏว่า พระพิษณุเป็นสหายกับพระอินทร์ แต่พระอินทร์ กลับเป็นใหญ่กว่า จนต่อมาในมหาภารตะและยุคปุราณะ ความรุ่งเรืองของพระพิษณุเจริญขึ้น จึงเลยเป็นใหญ่เป็นโต เข้ายึดนาม นารายณ์ แต่สมัยนั้นมา นามว่า นารายณ์ นี้ ชั้นเดิมเป็นนาม เรียกพระพรหมมาก่อน ได้ถูกแย่งไปเป็นนามของ พระพิษณุ ในสมัยที่มีความเจริญรุ่งโรจน์ ขึ้นภายหลัง
พระนารายณ์นี้มีกำเนิดว่า (นารายณ์สิบปางฉบับของหอพระสมุด) เมื่อเพลิงบรรลัยกัลป์สังหารโลก สิ้นแล้ว พระเวท พระธรรม ก็มาประชุมกันเข้า จึงบังเกิดพระผู้เป็นเจ้าองค์หนึ่งมีนามว่า พระปรเมศวร (พระอิศวร) พระองค์มีประสงค์จะสร้างสรรค์สร้างแผ่นดินซึ่งเป็นการใหญ่ จำจะต้องสร้าง ผู้ช่วยพระองค์ จึงเอาพระหัตถ์ซ้ายมาลูบพระหัตถ์ขวา ก็บังเกิดองค์พระนารายณ์ เป็นเจ้าขึ้น แล้วโปรดให้เป็นผู้สอนศิลปศาสตร์แก่กษัตริย์และให้ ไปอยู่ ณ เกษียรสมุทร คราวใด เกิดทุรยุค พระนารายณ์ก็มีหน้าที่ไปปราบ โดยศิวโองการบ้าง โดยถูกอัญเชิญจากพวกเทวดาบ้าง ที่เรียกว่า อวตาร
การอวตารของพระนารายณ์มีมาก แต่ที่นิยมกันว่าเป็นปางใหญ่ ๆ มีอยู่ 10 ปาง คือ

มัตสยาวตาร หรือ มัจฉาวตาร เป็นปลาไปปราบสังขอสูร หรือ หัยครีพอสูร ซึ่งเป็นผู้ลักคัมภัร์พระเวทของพระพรหมธาดาหรือพระเวทที่ไหลออกจากโอษฐ์พระ พรหม เมื่อบรรทมหลับเพราะความริษยา
กูรมาวตาร หรือ กัจฉปาวตาร เป็นเต่าไปปราบ อสูรมัจฉา ซึ่งคิดจะทำลายแผ่นดินที่ทรง เขาพระสุเมรุให้พัง แต่ฉบับนารายณ์ 10 ปางของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวรัชกาลที่ 6 ว่า เพื่ออนุเคราะห์ในการกวนน้ำอมฤตสำหรับความไม่ตายของพวกเทวดา

วราหาวตาร เป็นหมูไปปราบ เหรัญยักษ์ ซึ่งจะม้วนแผ่นดินทั้ง 4 ทวีปไปทิ้งบาดาล เพื่อให้โลกคงอยู่จนเวลานี้
นรสิงหาวตาร เป็นนรสิงห์ไปปราบ หิรัณตาสูร (หิรัญยกศิปุ-ก็เรียก) ซึ่งกำเริบตั้งตัว เทียมพระเป็นเจ้า และทำทุกข์ให้แก่ทวยเทพ
วามนาวตาร (บาง แห่งเรียก ทวิชาวตาร เป็นพราหมณ์หนุ่ม) เป็นคนเตี้ยไปปราบท้าว ตาวันตาสูร หรือท้าวพลิ ซึ่งขอที่แผ่นดินต่อพระเป็นเจ้าได้แล้ว กระทำการรังแกสัตว์มนุษย์ และเทวดา
ปรศุรามาวตาร เป็นรามสูร (พราหมณ์-ไม่ใช่ยักษ์) ไปปราบกษัตริย์ อรชุน (การตวิรยะ) ซึ่งรังแก พราหมณ์
รามาวตาร หรือ รามจันทราาวตาร เป็นพระรามไปปราบท้าว ราพณ์ คือ ทศกัณฐ์ ซึ่งเป็นยักษ์ที่อาธรรม์รังควานเทวดาและมนุษย์
กฤษณาวตารเป็นพระกฤษณะไปปราบท้าว พาณาสูร (นัยว่าท้าวราพณ์ไปเกิด) ในเรื่องอนุรุท หรือปราบอสูรชื่อพญากงส์

พุทธาวตาร เป็นพระสมณโคดม ปราบ ท้าววัสดีมาร หรือเพื่อประทานธรรมแก่โลก ฉบับหอพระสมุดว่า ไปหลอก ท้าวตรีปุรัม เอาศิวลึงค์คืน

กัลกิยาวตารเป็นมหาบุรุษจะบันดาลให้โลกเป็นบรมสุข ปางนี้จะมีต่อไปในอนาคต ที่สุดแห่งกลียุคนี้
แต่ในฉบับของหอพระสมุด มีอวตารแทรกเกินอยู่อีก 2 ปาง คือ
มหิงสาวตาร เป็นกระบือเถื่อน 1

อัปสราวตาร เป็นนางเทพอัปสรไปปราบ นนทุกข์ 1 แต่ขาดไม่มีอยู่ 2 ปาง คือปางปรศุรามาวตาร กับ ปางกัลกิยาวตาร ฉะนั้นจึงคงมี 10 ปางเท่ากัน (ในภควัตปุราณะว่า มีถึง22 ปาง) ในปางต่าง ๆ เหล่านี้ เคยมีพวกนักศึกษา ประวัติศาสตร์สำแดงความเห็นว่าบางปางเป็นปกรณ์เปรียบเทียบแถลง เกี่ยวด้วยความเปลี่ยนแปลงแห่งธรรมชาติ และบางปางก็มีเค้าความจริงปะปนอยู่บ้าง

แต่ในมหาภารตะว่า ความนิยมแต่เดิมนั้น มี พระปรพรหม อยู่องค์เดียวในโลก ตามคัมภีร์วราหบุรณะว่า พระปรพรหม ก็คือองค์ พระนารายณ์ นั่นเอง แต่พระปรพรหมเป็น อรูปกเทพ คือไม่มีตัวตน ครั้นประสงค์จะสร้างสกลโลก จึงได้ทรงแบ่งภาคของพระองค์เอง ขึ้นเป็นรูปกเทพ คือ พระพิษณุ แล้วพระปรพรหมจึงประทานพรแก่พระพิษณุ เป็นผู้สร้างสิ่งทั้งปวง และเป็นผู้บริหารโลกทั้งสาม เป็นที่นับถือแห่งชนทั้งหลาย ทั้งเป็นผู้ปฏิบัติตามปรารถนาของพรหม และเทวดาด้วย แล้วพระปรพรหมก็คืนเข้าสู่ความเป็นธรรมดาแห่งพระองค์

ต่อมาใน ปัทมาบุราณะ ได้กล่าวว่า เมื่อพระพิษณุเริ่มจะสร้างโลก พระองค์ทรงแบ่งภาคเป็น 3 คือ เป็น ผู้สร้าง 1 เป็นผู้บริหาร 1 เป็นผู้สังหาร 1 ในกาลนี้พระองค์ได้สร้าง พระพรหมา จากสีข้างขวาสำหรับเป็นผู้สร้างและสร้าง พระพิษณุ จากสีข้างซ้าย เพื่อบริหารโลก แล้วสร้าง พระศิวมหากาฬ (อิศวร) จากบั้นกลางพระองค์เพื่อล้างโลก

พระนารายณ์มีมเหสีทรงนามว่า ลักษมี วิมานแก้วมณี มีพระยาครุฑเป็นพาหนะมีอนันตนาคราชเป็นบัลลังก์ ที่สถิตเรียกว่า ไวยกูนฐ์ณ เกษียรสมุทร รูปพระนารายณ์มักเขียนเป็น บุรุษหนุ่ม กายเป็นสีนิลแก่ อาภรณ์อย่างกษัตริย์ เสื้อทรงสีเหลือง มีสี่กร ทรงตรีคทา (ชื่อเกาโมทกี) จักร (ชื่อ สุทรรศน์ หรือ วัชระนาภ) สังข์ (ชื่อ ปัญจชันย) บางแห่งว่ามีธนู (ชื่อ ศารง) และดอกบัว (ปทุม) กับพระขรรค์ (ชื่อนันทก) บนอุระมีขนเขาเขียนเป็นรูปยันต์ ศรีวัตสะ ดั่งนี้ มีแก้วทับทรวงชื่อเกาสุภ มีวลัยแก้ว ชื่อ สยมันตก

ส่วนสีกายของพระนารายณ์นั้นหาได้คงที่ไม่ เปลี่ยนไปตามยุค คือใน กฤดายุคสีขาว เพราะโลกประกอบไปด้วยธรรมเปี่ยมยิ่ง ครั้นในไตรดายุค สัตย์ธรรมเสื่อมลง 1 ส่วนใน 4 สีกาย พระนารายณ์เป็นสีแดง ตกมาในทวาปรยุค สัตย์ธรรมเสื่อมลงไปกึ่งหนึ่ง สีกายพระนารายณ์เป็นสีเหลือง ครั้นมา ณ บัดนี้เข้าเขต กลียุค สัตย์ธรรมเหลือ 1 ส่วนใน 4 มีแต่ยุคเข็ญภัย ต่าง ๆ พระนารายณ์จึงมีสีกายดำดั่งที่ว่าไว้ข้างบนที่ให้เขียนเป็นสีนิลแก่ ก็คือดำนั่นแหละ
บางแห่งก็กล่าวกันว่า แม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ก็ผุดขึ้นมาจากพระบาทของพระวิษณุ

สมยานามของพระนารายณ์มีต่าง ๆ กันราว 1,000 ชื่อ จะยกมาแต่เพียงบางชื่อ เช่น อนันต(ไม่สิ้นสุด) จตุภุช (สีกร) ทาโมทร (มีเชือกพันรอบเอว) กฤษณะหรือโควินทะ หรือโคปาล (ผู้เลี้ยงวัว) ชลศายิน (นอนเหนือน้ำ) มุราริ (ศัตรูแห่งมุร) นระ (ผู้ชาย) นารายณ์ (ผู้เคลื่อนไปในน้ำ) ปัญจายุทธ (ผู้ทรงอาวุธ 5 ชนิด) ปิตามพร (ทรงเครื่องเหลือง) ปุรุโษตมะ (ยอดคน) ฯลฯ
จาก เทวกำเนิด ของ พระยาสัจจาภิรมณ์
การบูชาพระนารายณ์


แต่โบราณนิยมบวงสรวงบูชาขอพรให้มีความร่มเย็นเป็นสุข มีความสำเร็จในการศึกษาวิชาการต่างๆ รวมทั้งเมื่อกาลเกิดเหตุการณ์อาถรรพณ์เป็นอัปมงคล จึงทำการบูชาพระนารายณ์เพื่อแก้เคล็ดลบล้างสิ่งอัปมงคลนั้นเพื่อเสริมสร้าง ศิริมงคล จะต้องจัดทำพิธีบูชาภายใน 10 วัน นับจากเกิดเหตุนั้นๆ

โดยทั่วไปจะบูชาพระนารายณ์ในเดือนอ้ายของทุกปี ในวันแรม 1 ค่ำ ถึง 5 ค่ำ

ส่วนเทศกาลเฉลิมฉลองจะอยู่ช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน หรือปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน

คาถาบูชา

โอม พระนารายะณะราชะ นามะ อุปาทะวะตายะ จัตตุ

ครุฑาพหนะนายะ หะระติ ทิสะฐิตายา อาคัจฉันตุภุญ ชะตุ ขิปายะตุ

วิปปะยะตุ สะวาหะ สะวาหายะ สัพพะอุปาทะวะ วินาสายะ สัพพะอุปาทะวะ วินาสายะ

สัพพะ อันตะรายะ วินาสายะ สุขขะวัฑฒะโก โหตุ อายุ วัณณะ สุขะ พะลัง

อัมหากัง รักขันตุ สะวาหะ สะวาหา สะวาหายะ

(สวด ท่องคาถาแล้วเป่าคาถาใส่ลงในเครื่องบวงสรวง 3 ครั้ง) หลังจากทำพิธีบวงสรวงบูชาแล้ว ในวันต่อไปให้ท่องคาถาบูชาวันละ 1 จบ ให้ครบตามกำลังวันเกิด


เครื่องบวงสรวงบูชา

กระทงใบตองใส่ข้าวตอก ดอกไม้ อาหารคาว 2-3 อย่าง ขนมหวาน 5 อย่าง ผลไม้ 3 อย่าง (กล้วย มะพร้าวอ่อน อ้อย) นมสด เนย ใบกะเพรา เมล็ดข้าว เมล็ดถั่วเขียว ถั่วแดง ตะเกรียงน้ำมันมะพร้าว เครื่องหอม ธงผืนเล็กสีเขียว 7 ผืน ผ้าแพร 3 ผืน (สีเขียว แดง เหลือง) ตุ๊กตาปั้น (ปูน หรือไม้แกะสลักเล็กๆ) รูปม้า ช้าง วัว ควาย


คาถาขอพร

โอม หะระติทิสะ นารายะณะเทวะตา สะหะคะณะปะริวารายะ อาคัจฉันตุ

ปะริกุญชะตุสะวาหะ สะวาหายะ

โอม สัพพะอุปาทะวะ สัพพะทุกขะ สัพพะโสกะ สัพพะโรคะ สัพพะภะยะ

สัพพะอุปัททะวะ

สัพพะศัตรู วินาสายะ ปะมุจจันติ

โอม นารายะณะเทวะตา สะทา รักขะตุ สะวาหะ

*********************
ขอขอบคุณ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น