วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2552

พิธีกรรมทางไสยศาสตร์ของสำนักวัดเขาอ้อ




พิธีกรรมทางไสยศาสตร์ของสำนักวัดเขาอ้อ

ความ เชื่อทางไสยศาสตร์ของสำนักวัดเขาอ้อที่สำคัญถือเป็นหลัก นิยมใช้ประกอบพิธีกรรมให้สานุศิษย์และประชาชนที่ศรัทธาโดยทั่วไปมี 4 พิธี คือ พิธีเสกว่านให้กิน พิธีหุงข้าวเหนียวดำ พิธีเสกน้ำมันงานดิบ และพิธีแช่ว่าน
นอกจากนี้ก็ยังมีพิธีอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น พิธีสอนให้ชักยันต์ด้วยดินสอดำ และการสร้างพระเครื่องรางของขลัง วิชาดูฤกษ์ยาม ตำรารักษาโรคภัยไข้เจ็บจากสมุนไพร และการรักษาด้วยคาถาอาคม เพื่อประโยชน์ของการศึกษาทางด้านความเชื่อทางไสยศาสตร์ จึงขอนำเอาพิธีกรรมที่กล่าวแล้วข้างต้น มาอธิบายไว้ในที่นี้พอสังเขป

1.พิธีเสกว่านให้กิน


หมายถึง การนำเอาว่านที่เชื่อว่ามีสรรพคุณทางด้านอยู่ยงคงกระพันชาตรี หรือทางด้านมหาอุด มาลงอักขระเลขยันต์ทางเวทมนต์คาถา แล้วนำไปให้พระอาจารย์ผู้ชำนาญเวท ปลุกเสกด้วยอาคมกำกับอีกครั้งหนึ่ง ว่านที่นิยมใช้ในพิธี ได้แก่ ว่านขมิ้นอ้อย ว่านสบู่เลือด ว่านสีดา ว่านเพชรตรี ว่านเพชรหน้าทั่ง เป็นต้น ว่านเหล่านี้เชื่อกันว่ามีเทพารักษ์คอยคุ้มครองรักษา พันธุ์ว่านบางชนิดต้องไปทำพิธีกินในสถานที่พบ ที่นิยมมาก ได้แก่ การกินว่านเพชรหน้าทั่ง
การทำพิธีกินต้องหาฤกษ์ยามเสียก่อน เมื่อได้ฤกษ์แล้วพระอาจารย์จะนำสายสิญจน์ไปวนไว้รอบต้นว่าน แล้วตั้งหมากพลูบูชาเทพารักษ์ ปลุกเสกอาคมทางหลักไสยศาสตร์ เมื่อเสร็จพิธีแล้วนำมาแจกจ่ายกินกัน เชื่อว่าจะทำให้ผู้นั้นเป็นคนอยู่ยงคงกระพันชาตรี
การเสกว่านให้กิน เมื่อสิ้นพระอาจารย์ทองเฒ่าแล้ว นิยมไปทำกันที่วัดดอนศาลา ต.มะกอกเหนือ โดยมีพระครูสิทธยาภิรัต (เอียด) เจ้าอาวาสวัดดอนศาลาเป็นผู้ประกอบพิธี เช่น การประกอบพิธีกินว่านหน้าทั่ง เมื่อวันพุธ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 5 พ.ศ.2473 มีอาจารย์นำ แก้วจันทร์ (ยังเป็นฆราวาส) เป็นผู้หาฤกษ์ยาม ผู้ร่วมกินมี พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช และพระเณรในวัดดอนศาลา

2.พิธีหุงข้าวเหนียวดำ


นิยมทำพร้อมกับพิธีเสกน้ำมันงาดิบ ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "กินเหนียวกินมัน" แต่ละปีจะประกอบพิธีกิน 2 ครั้ง คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 และ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10
พิธีหุงข้าวเหนียวดำ หมายถึง การนำเครื่องยาสมุนไพร หรือว่านชนิดต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 108 ชนิด มาผสมกันแล้วต้มเอาน้ำยามาใช้หุงข้าวเหนียวดำ ซึ่งข้าวเหนียวดำที่นำมาหุงนั้นเป็นข้าวเหนียวที่เรียกกันว่า “ข้าวเหนียวดำหมอ” คือมีลักษณะเมล็ดดำสนิท โต และแข็งกว่าเหนียวดำทั่วไป
การประกอบพิธีนิยมทำกันภายในอุโบสถมากกว่าสถานที่อื่นๆ ในสมัยก่อนนิยมทำกันในถ้ำฉัตรทันต์ หม้อและไม้ฟืนทุกอัน จะต้องลงอักขระเลขยันต์กำกับด้วยเสมอ พระอาจารย์ผู้ประกอบพิธีจะเริ่มปลุกเสก ตั้งแต่จุดไฟ จนกระทั่งข้าวเหนียวในหม้อสุก แล้วนำข้าวเหนียวที่สุกแล้วไปประกอบพิธีปลุกเสกอีกครั้งหนึ่งจนเสร็จพิธี
พิธีกินข้าวเหนียวดำ จะทำพิธีกันภายในอุโบสถ ก่อนกินถ้าสานุศิษย์คนใดไม่บริสุทธิ์ต้องทำพิธีสะเดาะ หรือเรียกว่า "พิธีการเกิดใหม่" หรือ "พิธีบริสุทธิ์ตัว" เพื่อให้ตัวเองบริสุทธิ์จากสิ่งไม่ดีชั่วร้ายทั้งปวง เมื่อถึงเวลาฤกษ์กินข้าวเหนียวดำ สานุศิษย์จะเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นนุ่งด้วยผ้าขาวม้าโจงกระเบนไม่ใส่ เสื้อ แล้วเข้าไปกราบพระอาจารย์ผู้ประกอบพิธี 3 ครั้ง เสร็จแล้วพระอาจารย์จะให้นั่งชันเข่าบนหนังเสือ เท้าทั้ง 2 เหยียบบนเหล็กกล้าหรือเหล็กเพชร ปิดศรีษะด้วยหนังหมี มือทั้ง 2 วางบนหลังเท้าของตัวเอง พระอาจารย์ใช้มือซ้ายกดมือทั้ง 2 ไว้ พร้อมกับภาวนาพระคาถา ส่วนมือขวาปั้นข้าวเหนียวดำเป็นก้อนป้อนให้ศิษย์ครั้งละ 1 ก้อน แล้วปล่อยมือศิษย์ที่กดไว้บนเหลังเท้า มือทั้ง 2 ของศิษย์จะลูบขึ้นไปตั้งแต่หลังเท้าจนทั่วตัวจดใบหน้า การลูบขึ้นนี้เรียกว่า "การปลุก" เสร็จแล้วลูบลง เอามือทั้ง 2 ไปวางไว้บนหลังเท้าทั้ง 2 เช่นเดิม โดยกะประมาณว่ากินข้าวเหนียวก้อนแรกหมดพอดี สำหรับผู้ที่ไม่เคยกินอาจกลืนลำบาก เนื่องจากว่าข้าวเหนียวมีรสขมมาก บางคนป้อนก้อนแรกถึงกับอาเจียนออกมาก็มี แต่ถ้ากลืนก้อนแรกจนหมดได้ ก้อนต่อไปจะไม่มีปัญหา พระอาจารย์จะป้อนจนครบ 3 ก้อน ในแต่ละครั้งจะลูบขั้นลูบลง เช่นเดียวกับครั้งแรก แต่ครั้งที่ 3 นั้นเมื่อศิษย์กินข้าวเหนียวหมดแล้ว พระอาจารย์จะใช้มือซ้ายกดมือทั้ง 2 ไว้ที่เดิมหัวแม่มือขวาสะกดสะดือศิษย์ ทำทักษิณาวัตร 3 รอบ พร้อมกับภาวนาพระคาถาไปด้วย เป็นการผูกอาคม
สำหรับคุณค่าของการกินข้าว เหนียวดำ สานุศิษย์ของสำนักเขาอ้อ เชื่อกันว่าใครกินได้ถึง 3 ครั้ง จะทำให้อยู่ยงคงกระพันชาตรี เป็นมหานิยม และยังเป็นยาแก้โรคปวดหลังปวดเอวได้เป็นอย่างดี

3.พิธีเสกน้ำมันงาดิบ


การเสกน้ำมันงาดิบ ต้องมีเครื่องบูชาครูเช่นเดียวกับการหุงข้าวเหนียวดำ คือ หมาก 9 คำ ดอกไม้ 9 ดอก เทียน 1 เล่ม ธูป 3 ดอก สายสิญจน์ หนังเสือ หนังหมี เอาวางไว้ที่หน้าเครื่องบูชา การเสกน้ำมันส่วนใหญ่นิยมใช้น้ำมันงาดิบ หรือน้ำมันยางแดงประสมว่าน พระอาจารย์ผู้ประกอบพิธีจะนั่งบริกรรมพระคาถาจนน้ำมันแห้งเป็นขี้ผึ้ง เรียกว่า "พิธีตั้งมัน"
เมื่อเสกจนน้ำมันแห้งแล้ว พระอาจารย์จะทำพิธีป้อนน้ำมันให้สานุศิษย์แบบเดียวกับพิธีป้อนข้าวเหนียวดำ คือ ผู้ที่จะกินมันต้องเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่เคยผิดศีลข้อกาเมฯ มาก่อน ถ้าบุคคลใดไม่บริสุทธิ์ ต้องให้พระอาจารย์ทำพิธี "บริสุทธิ์ตัว" คือ "สะเดาะ" เสียก่อน เสร็จแล้วก็ทำ เช่นเดียวกับกินข้าวเหนียวดำ โดยพระอาจารย์ ผู้ประกอบพิธีจะป้อนน้ำมันให้กิน 3 ช้อน แต่ละช้อนมีขมิ้นอ้อย 1 ชิ้น เมื่อกินช้อนที่ 3 หมด พระอาจารย์จะตักน้ำมันมาทาบบนฝ่ามือทั้ง 2 ของศิษย์ แล้วเขียนตัวอักขระตัว "นะโม" ข้างละ 1 ตัว จับมือศิษย์ทั้ง 2 ประกบกันละเลงให้น้ำมันทั่วฝ่ามือ แล้วนำไปทาบนหลังเท้าทั้ง 2 ข้าง ข้างละมือ พร้อมกับพระอาจารย์จะปลุกเสกคาถากำกับไปด้วย ต่อจากนั้นใช้มือลูบขึ้นและลูบลงเช่นเดียวกับการกินข้าวเหนียวดำ เสร็จแล้วมือซ้ายของอาจารย์จะกดมือทั้ง 2 ไว้หัวแม่มือขวาสะกดสะดือศิษย์ไว้ เช่นเดียวกับการกินข้าวเหนียวดำ เพื่อเป็นการผูกอาคม เป็นอันเสร็จพิธีการกินน้ำมันงาดิบ
คุณค่าการกินน้ำมันงาดิบของสำนักวัดเขาอ้อ เชื่อกันว่ามีคุณค่าทางด้านอยู่ยงคงกะพัน มีเมตตามหานิยม แต่มีข้อห้ามไว้ว่า ถ้าผิดลูกเมียผู้อื่นเมื่อใด น้ำมันที่กินเข้าไปจะไหลออกมาตามขุมขนจนหมดสิ้น และถ้าจะกินน้ำมันใหม่ก็ต้องทำพิธีสะเดาะใหม่อีกครั้ง

4.พิธีแช่ว่านยา


เป็นพิธีกรรมชั้นสูงทางไสยศาสตร์ของสำนักวัดเขาอ้อ การแช่ว่านยา หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ลงไปนอนแช่ในน้ำว่านยาที่ได้ทำพิธีปลุกเสกตามหลักวิชาไสยศาสตร์ จากพระอาจารย์ผู้เรืองอาคม เพื่อประสงค์ให้ตัวเองอยู่ยงคงกระพันชาตรี วัดเขาอ้อจึงได้นามอีกอย่างหนึ่งว่า "วัดพระอาจารย์ขลัง" หลายคนเชื่อกันว่าวัดเขาอ้อเป็นต้นตำรับพิธีการแช่ยา ต่อมาเมื่อมีลูกศิษย์มากขึ้น พิธีการนี้ก็แพร่หลายออกไปตามวัดต่างๆ เช่น วัดดอนศาลา วัดบ้านสวน อ.ควนขนุน วัดเขาแดงออก วัดยาง วัดปากสระ อ.เมือง พัทลุง เป็นต้น
พิธีการแช่ยาที่วัดเขาอ้อ นิยมประกอบพิธีบนไหล่เขาหรือภายในถ้ำฉัตรทันต์ ในราวเดือน 5 เดือน 10 ของทุกๆ ปี โดยก่อเป็นรูปอ่างน้ำสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือใช้เรือขุดจากไม้ก็ได้ให้มีขนาดพอที่จะให้คนลงไปนอนได้ประมาณ 3-4 คน ส่วนมากไม่มีการกำหนดขนาดที่แน่นอน อ่างน้ำนี้เรียกว่า "รางยา"
เนื่องจากพิธีกรรมแช่ว่าว่านยาเป็นพิธีใหญ่มาก และเป็นพิธีชั้นสูงของสำนักวัดเขาอ้อและทำได้ยากลำบาก เครื่องบูชาครูจึงต้องมีมากเป็นธรรมดา คือ หัวหมู บายศรีไหญ่ ยอดบายศรี สวมแหวนทองคำหนัก 1 บาท หมากพลู ธูปเทียน ดอกไม้ และมีหนังสือหนังหมี เหล็กกล้า เป็นเครื่องประกอบ

** พิธีกรรมทางไสยศาสตร์ของสำนักวัดเขาอ้อ เป็นพิธีกรรมไสยศาสตร์แบบพุทธาคม กล่าวคือถืออาคมของพระพุทธเจ้า คำว่า “อาคม” คือ การมาถึงของการตื่นรู้ เบิกบานในธรรมชาติสรรพสิ่ง “พุทธาคม” คือ กถา คือ ถ้อยคำ คือ คาถาแห่งพุทธะ บุคคลใด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบรรพชิต หรือคฤหัสถ์ ที่ทำพิธี เข้าร่วมพิธี ต้องเป็นผู้ถึงพระรัตนตรัย ถือเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ถือบริสุทธิ์ศีลเป็นข้อปฏิบัติ
** พิธีกรรมที่กระทำนั้นจึงเป็นกระบวนการในวิธีและวิถีที่จักกระทำให้บุคคลเข้า ถึงธรรม เพราะเมื่อบุคคลเข้าถึงอาคม ก็จักเข้าถึงธรรม เมื่อเข้าถึงธรรม จักพบและเป็นอยู่อย่างยอดยิ่ง

(เรียบเรียงจาก
- หนังสือ "วัดดอนศาลา" โดย คุณธีระทัศน์ ยิ่งดำนุ่น และ คุณจำเริญ เขมานุวงศ์
- หนังสือ "ที่ระลึกงานฉลองสัญญาบัตร พัดยศ พระครูอดุลธรรมกิตติ์ เจ้าอาวาสวัดเข้าอ้อ" โดย คุณสมคิด คงขาว และ คุณศิริพงศ์ ยูงทอง 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2536)

** อธิบายความ โดย เลข อักขระ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น