วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2552

ตำนานอาฏานาฏิยปริตร


อา ฏานาฏิยปริตร นี้ มาในอาฏานาฏิยสูตร ซึ่งนิยมเรียกว่า ภาณยักข์ ใน ๓ ภาณ พระสูตรนี้แต่ก่อนนิยมสวดในงานพระราชพิธีตรุสหลวง ซึ่งมีพระราชนิยมจัดทำที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัน ในพระบรมมหาราชวัง พระสงฆ์ที่สวดภาณยักข์ เป็นพระพิธี สำรับละ ๔ ผลัดกันสวด ตามระเบียบ พระพิธีนี้ถือว่า เป็นพระทรงสมณศักดิ์ ดำรงตำแหน่งพระพิธีหลวง พระผู้ได้รับแต่งตั้งจะต้องมีคุณสมบัติเป็นพิเศษในการสวด เช่น

ก. มีเสียงเพราะ

ข. มีความรู้ดีในการสวด ตามแบบทำนองหลวง แปลว่า สวดเป็น เป็นศิษย์มีครู โดยได้รับฝึกมาดีแล้ว โดย เฉพาะพระพิธีสำหรับสวดภาณยักข์ ยังมีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มอีกประการหนึ่ง คือ เสียงดัง พระพิธีนี้ไม่มีทุกวัด แม้จะเป็นพระอารามหลวง ปกติมีเฉพาะพระอารามหลวงที่สำคัญ เช่น วัดมหาธาตุ วัดพระเชตุพน วัดสระเกศ วัดระฆัง วัดบวรนิเวศ วัดโสมนัส วัดราชบพิธ เฉพาะงานพระราชพิธีตรุสหลวง พระพิธีสำรับวัดมหาธาตุ ต้องสวดยักษ์ใหญ่ พร้อมทั้งขึ้น นโม ด้วย เมื่อมีพระพิธีสวดหลายสำรับก็เป็นการประกวดกันในที่ เพราะนับแต่องค์พระมหากษัตริย์ลงมา ฝ่ายพระก็นับแต่สมเด็จพระสังฆราชลงมา เสด็จประทับฟัง ติ ชม อยู่ด้วยตลอดเวลา จึงไม่ต้องสงสัยว่า ทุกสำรับ ทุกสำนักจะไม่แก่ซ้อม ทราบว่าเมื่อพระพิธีวัดใดเข้าสวด เจ้าอาวาสวัดนั้นจะต้องอยู่ฟังด้วย ในฐานะผู้ปกครอง พร้อมทั้งรายงานทูลพระราชปุจฉาพระมหากษัตริย์ หรือสมเด็จพระสังฆราช

สำหรับ ตั้ง นโม เสียเปรียบในเชิงประกวด เพราะเหนื่อยทั้งไม่อยู่ในการประกวด แต่จำต้องสวดสำรับแรก ทราบว่า เพียงแต่ว่า นโม ๓ จบ ก็ต้องใช้เวลากว่า ๑๐ นาที และบวกไตรสรณาคมน์เข้าไปอีกก็ถึงครึ่งชั่วโมง ถ้าต้องการทราบว่า สวดอย่างไร จึงช้าปานนี้ ต้องไปหาพระที่เคยสวด ขอความกรุณาให้ท่านสวดให้ฟังสัก ๑ จบ ก็คงทราบได้ดี ข้าพเจ้าเคยฟัง การสวดมีทำนองและช้ามาก ทั้งทำนองและเวลา ดูเหมือนจะมากเฉพาะ นโม และ ไตรสรณาคมน์ เท่านั้น

คำ ว่า ภาณยักข์ แปลว่า ยักษ์กล่าว คู่กับ ภาณพระ ซึ่งแปลว่า พระกล่าว สำหรับยักษ์นั้น หมายถึง ท้าวเวสสุวรรณ ผู้เป็นมหาราชของพวกยักษ์ แต่คำว่า พระ นั้น หมายถึง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้น สวดภาณยักข์ จึงนิยมให้ใช้เสียงดัง ทั้งทำนองก็หนักแน่นน่ากลัว แบบยักษ์ ดูเหมือนจะเกณฑ์ให้เข้ากับยักษ์ได้ อย่างนั้นก็ยังไม่สะใจ เวลาสวดถึงตรงสำคัญ ในพระราชพิธี ยังกำหนดให้ยินปืนสำทับส่งอีก

การ สวดนั้น มุ่งจะขับยักษ์ ภูตผีปีศาจ ที่ดุร้าย ให้โทษแก่ประชาชน เมื่อกำหนดว่า พวกยักษ์เป็นต้นเหล่านั้น หวาดกลัวเป็นที่แล้ว ก็ยิงปืนกำหราบขับส่ง ปืนที่ยิงนั้น ก็เป็นปืนโบราณ ใส่ดินปืนกระทุ้งทำไมไม่ใช้ปืนสมัยปัจจุบัน ซึ่งมีลูกระเบิดดังน่ากลัวกว่ามาก ตอบได้ว่า เพียงลูกปืนที่ว่านั้น ภูตผีปีศาจไม่ครั่นคร้าม เพราะเสียงภูตผีปีศาจยังน่ากลัว น่าหวาดเสียวกว่า ส่วนลูกปืนสำหรับยิงปืนอาฏานานั้น ใส่ดินปืน ใส่หมอน ใบหนาด ใบสาบแร้งสาบกา ใส่ข้าวสาร เป็นอาถรรพ์ เป็นที่ยำเกรงของภูตผีปีศาจ จึงนิยมอย่างนี้

คำ ว่า ยิงปืนอาฏานา โดยมากมีคนเรียกเพี้ยงไปว่า ยิงปืนอัตตะนา เห็นจะเข้าใจว่า อัดให้แน่น จะได้ยิงให้ดัง ความจริงนั้น ยิงในเวลาสวดอาฏานาฏิยปริตร จึงเรียกว่า ยิงปืนอาฏานา บัดนี้ พระราชพิธีตรุษยกเลิกแล้ว การสวดก็เป็นอันระงับไปด้วย แต่มนต์บทนี้ยังนิยมสวดตามงานทั่วๆไป ในพระราชอาณาจักร

อาฏานาฏิยปริตร บทนี้ มีตำนานเล่าไว้ว่า

สมัย หนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จประทับอยู่แถบภูเขาคิชฌกูฏ แคว้นราชคฤห์มหานคร ครั้งนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์ มีท้าวเวสสุวรรณ เป็นประธาน แวดล้อมด้วยยศ บริวาร คือเหล่ายักษ์ คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ และนาค เป็นอันมาก เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ในเวลาราตรี รัศมีงามยิ่งนัก สว่างทั่วภูเขาคิชฌกูฏ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับนั่ง ณ ที่สมควร

ใน บรรดาเหล่าบริวารที่ประชุมเฝ้าอยู่นั้น บางพวกอภิวาทแล้วนั่ง บางพวกก็ปราศรัยให้เป็นเครื่องเจริญใจชวนให้ระลึกถึงแล้วจึงนั่ง บางพวกประนมมือแล้วนั่ง บางพวกเพียงทูลถวายชื่อและตระกูลของตนด้วย แต่บางพวกก็นั่งเฉยๆ

ลำดับ นั้น ท้าวเวสสุวรรณมหาราชได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกยักษ์ที่ยังไม่เลื่อมใสในพระองค์ก็มีมาก ทั้งชั้นสูง ชั้นกลาง และชั้นต่ำ แม้บรรดาที่เลื่อมใสในพระองค์ก็มีมาก ทั้งชั้นสูง ชั้นกลาง ชั้นต่ำ เช่นเดียวกัน”

“เพราะเหตุใด พวกยักษ์ที่ไม่เลื่อมใสจึงยังมีอยู่ ?”

“ข้า แต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะพวกยักษ์เหล่านั้นยังรักความเป็นผู้ทุศีล ยังพอใจในเวรห้า ที่พระองค์ทรงแสดงว่า เป็นเวร เป็นโทษ คือพอใจจะเบียดเบียนชีวิตเขา เบียดเบียนทรัพย์เขา ยังพอใจละเมิดลัทธิประเพณีเขา ยังพอใจกล่าวเท็จ ยังพอใจดื่มน้ำเมา ยังรักที่จะทำเวรเหล่านั้น ไม่พยายามที่จะวิรัติ งดเว้น ด้วยเหตุนี้ ยักษ์เหล่านั้น จึงไม่รัก ไม่พอใจ ไม่เลื่อมใสในพระองค์ เพราะพระโอวาทขัดแย้งต่อความเห็น ความพอใจของเขา”

“ข้า แต่พระผู้มีพระภาค สาวกของพระองค์ ที่พอใจอยู่ในป่าในที่สงัด ในที่วิเวก ในป่าช้า ในที่เป็นที่อยู่ของพวกยักษ์เหล่านั้น ข้อนี้เป็นช่องทาง เป็นโอกาสให้ยักษ์จำพวกนี้เบียดเบียนให้ได้รับความลำบาก เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์ขอถวายมนต์ อาฏานาฏิยปริตร บทนี้ ขอให้พระองค์ได้โปรดให้ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา บริษัทของพระองค์ เรียนจำไว้สวด เพื่อป้องกันมิให้ยักษ์ทั้งหลายเหล่านั้นเบียดเบียน คือว่า เมื่อยักษ์จำพวกนี้ได้ยินมนต์บทนี้แล้ว จักหนีห่างไปไม่มาเบียดเบียน เพราะเกรงเทวอาชญา”

เมื่อท้าวเวสสุวรรณมหาราชทรงทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับแล้ว จึงได้ภาษิตอาฏานาฏิยปริตรถวายจนจบ

เนื้อแท้ของอาฏานาฏิยปริตรนั้น ก็ล้วนเป็นคำนมัสการพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ มีพระวิปัสสีสัมพุทธเจ้าเป็นต้น โดยเฉพาะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น