วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2552

พิธีกรรมทางไสยศาสตร์



เกี่ยวกับการใช้เวทย์มนต์ เลขยันต์ที่เกี่ยวกับโหราศาสตร์นั้น มีหลายวิธี เช่น วิธีผูกดวงพิชัยสงครามขึ้นไว้สักการะบูชา รอบๆดวงชะตานั้น จะมีการลงยันต์พิชัยสงครามและคาถาล้อมรอบดวงชะตา แต่ก็เป็นลัทธิไสยศาสตร์ที่ถูกตัดเป็นพุทธศาสตร์แล้ว กล่าวคือ คาถาที่ลงนั้นก็ลงด้วยอักขระพุทธคุณทั้งสิ้น เพียงแต่ถอดเป็นตาม้าหมากรุก หรือถอดเป็นกลบทที่เรียกว่า " อิ ติ ปิ โส
8 ทิศ " คาถา ฆะเตสิ ฯลฯ ในพระธรรมบทคาถา อะโจ ภะ ยะ สิ กะรา วาเต ฯลฯ ในคัมภีร์วชิรสาร และคาถาพระพุทธเจ้า 16 พระองค์ ซึ่งล้วนแต่เป็นคาถาที่ประพันธ์ขึ้นตามหลักพระพุทธศาสนาทั้งนั้น บางทีก็นำดวงชะตาที่ทำขึ้นนี้ บรรจุใส่ในใต้ฐานพระโพธิ์ปางห้ามสมุทร (แกะ สลักด้วยไม้ศรีมหาโพธิ์) บรรจุใส่พระวันเกิด เพื่อหวังจะได้บังเกิดศิริมงคลแก่ดวงชะตา และถ้าจะออกรบจับศึกก็ทำเป็นตะกรุดติดตัวไป เพื่อให้มีชัยชนะในสงคราม จึงเรียกดวงชะตาที่ประกอบขึ้นทางโหราศาสตร์และไสยศาสตร์นี้ว่า " ดวงพิชัยสงคราม " แปลตามความหมายก็ได้ความว่า เป็นสิ่งที่ทำให้มีชัยชนะแก่ข้าศึกนั่นเอง

ลัทธิทางพุทธศาสนา ได้ยกย่องปาฎิหารย์ไว้เป็น 2 ประการ คือ อิทธิปาฎิหารย์ ฤทธิ์อันเป็นมหัศจรรย์ประการหนึ่ง อนุสาสนีปาฎิหารย์ คำสอนอันเป็นมหัศจรรย์ประการหนึ่ง

สำหรับ อิทธิปาฎิหารย์นั้น พระพุทธเจ้ามิได้ทรงยกย่องเท่ากับอนุสาสนีปาฎิหารย์ แม้กระนั้นก็ยังทรงแต่งตั้งให้พระโมคคัลลานะเถระไว้เป็นยอดของพระภิกษุ ผู้มีฤทธิ์และอิทธิปาฎิหารย์ สามารถแสดงฤทธิ์เดชได้เป็นอัศจรรย์ ตามทางในพุทธศาสนานี้ ที่แท้จริงก็ได้แก่สิ่งที่เราเข้าใจกันว่า ไสยศาสตร์ในปัจจุบันซึ่งผิดแผกไปจากไสยศาสตร์ในลัทธิพราหมณ์ และมีประโยชน์ที่สำคัญยิ่งต่อมวลพุทธศาสนิกชนทุกคน เพราะเป็นเครื่องน้อมนำให้มั่นคงในอานุภาพของคุณพระรัตนตรัย บันดาลให้หายจากความกลัวต่อภัยอันตรายต่างๆ มีคำของท่านโบราณจารย์ท่านกล่าวไว้ดังนี้

พุทธานุสสะติ อันว่าความตามระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้ามีคณานุภาพมากหลาย ห้ามกันเสียซึ่งความหวาดเสียวต่อภยันตรายต่างๆ มีพุทธภาษิตในธชัคคสูตร แสดงไว้ดังนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าความกลัวหรือความหวาดเสียว หรือขนพองสยองเกล้าเกิดแก่ท่านผู้ไปสู่ป่าก็ดี สู่โคนต้นไม้ก็ดี สู่เรือนเปลี่ยวก็ดี สมัยนั้นท่านทั้งหลาย พึงตามระลึกถึงเราอย่างนี้ว่า

" อิ ติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิสัตถาเทวะมะนุสสานัง พุทโธภะคะวาติ "

เมื่อ ท่านทั้งหลายตามระลึกถึงเราอยู่ ความหวาดกลัวหรือความหวาดเสียว หรือขนพองสยองเกล้าจักหายไป เพราะตถาคตเป็นอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นผู้ไม่กลัวไม่สะดุ้ง ไม่ตกใจ ไม่หนี

ตามระลึกถึง พระพุทธคุณ หรือการภาวนาคาถา "อิติปิโส" มีคุณานุภาพตามที่ท่านได้กล่าวมานี้ ฉะนั้นท่านโหราจารย์แต่ปางก่อน ท่านจึงได้น้อมนำเอาพระคาถา "อิติปิโส" มาประกอบกับดวงชะตาจัดทำเป็นดวงพิชัยสงคราม เพื่อสร้างศิริมงคลและคุ้มครองป้องกันอันตรายให้แก่เจ้าชะตา และเมื่อถีงคราวดวงชะตาเข้าสู่เกณฑ์ร้าย ตามที่เรียกว่า ต้องฆาตทั้งลัคน์และจันทร์ ก็ได้น้อมนำเอาพระพุทธคุณ และพระปริตมาเป็นคาถาสวดปัดเป่า บรรเทาเคราะห์ให้หายไปตามนัยแห่งเรื่อง "อายุวัฒณกุมาร" ซึ่งได้ยกมากล่าวอ้างไว้นั้น เพราะความสำคัญดังนี้ ในหลักสูตรการเรียนโหราศาสตร์ ท่านจึงบรรจุหลักการเกี่ยวกับการใช้คาถาอาคม สำหรับปัดเป่าเคราะห์ร้ายที่จะบังเกิดขึ้น ในดวงชะตาหรือเพื่อส่งเสริมดวงชะตา ให้ประสบความเจริญรุ่งเรือง เข้าไว้ในหลักสูตรชั้นสูงของวิชาโหราศาสตร์ ซึ่งท่านที่จะผ่านการเป็นโหรครบถ้วนสมบูรณ์แบบ จำเป็นจะต้องเล่าเรียนให้รู้ไว้ เพราะเป็นวิชาการใช้คาถาอาคม เลขยันต์ หรือที่เรียกว่า "ไสยศาสตร์ " นั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เกี่ยวพันกับวิชาโหราศาสตร์อยู่ตลอดไป อาทิเช่น จะทำดวงพิชัยสงครามขึ้นสักดวงหนึ่ง ถ้าปราศจากความรู้ในทางไสยศาสตร์แล้ว ก็ไม้สามารถที่จะจารึกอักขระมนต์ในแผ่นดวงได้เลย
ตามที่ได้กล่าวถึงไสยศาสตร์มาแล้วนี้ กล่าวเฉพาะเพียงผิวเผิน แต่ถ้าจะกล่าวลงไป ให้ลึกซึ้งถึงแก่นของความจริงแล้ว คำว่า "ไสย" นั้น แปลตามรูปศัพท์ว่า ประเสริฐ ฉะนั้น คำว่า ไสยศาสตร์ ก็คือ ศาสตร์อันประเสริฐ หรือวิชาอันประเสริฐนั่นเอง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากพลังสมาธิจิต ซึ่งจัดว่าเป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่ง แต่ในขณะนี้ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ตามหลักฟิสิกส์และเคมี ขอได้โปรดพิจารณาหลักการที่สำคัญในพระพุทธศาสนา จุดสำคัญอยู่ที่การอบรมสมาธิจิตเป็นหัวข้อใหญ่ ตามหลักพุทโธวาท ซึ่งทรงแสดงไว่ว่า
"สะมาธิ ภิกเวถะ สะมาหิโต ยะถาภูตังประชานาติ" แปลความว่า ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงยังสมาธิให้เกิด ชนผู้มีจิตเป็นสมาธิ ย่อมรู้ตามความเป็นจริง

การอบรม จิตให้เป็นสมาธิ ตามหลักในพระพุทธศาสนา ดำเนินเป็นขั้นๆไป เริ่มตั้งแต่ฌาณก่อน เมื่อเจริญฌาณแก่กล้าแล้ว จึงเลื่อนอันดับเข้าถึงวิปัสสนาญาณ อันเป็นญาณอันดับต้นในวิชา 8 ประการ

การ ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงแสดงปาฎิหารย์ให้ปรากฎเห็นได้เป็นอัศจรรย์ ก็เพราะเหตุที่พระองค์ท่านทรงเพรียบพร้อมด้วยวิชา 8 ประการนี้ สมดังคาถาสรรเสริญถึงพระพุทธคุณที่ว่า "วิชชาจะระณะสัมปันโน" ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชา 8 และจะระณะ 15
วิชา 8 ประการ ตามที่กล่าวมา คือ

1 วิปัสสนาญาณ (ญาณอันนับเข้าไปในวิปัสสนา)
2 มโนยิทธิ (ฤทธิ์ทางใจ)
3 อิทธิวิธี (แสดงฤทธิ์ได้)
4 ทิพยโสต (หูทิพย์)
5 เจโตปริยญาณ (รู้กำหนดใจผู้อื่น)
6 ปุพเพนิวาสนุสสติ (ระลึกชาติได้)
7 ทิพยจักขุ (ตาทิพย์)
8 อาสวักขยญาญาณ (รู้จักกำจัดอาสวะให้สิ้นไป)

วิชาทั้ง 8 ประการ เมื่อตรวจดูแล้ว ในข้อที่ 6 คือ ปุพเพนิวาสนุสสติญาณ การระลึกชาติได้ ทำให้นึกถึงวิชาโหราศาสตร์ โหราศาสตร์เป็นศาสตร์ที่สามารถใช้พยากรณ์เหตุการณ์ในปัจจุบันได้ สามารถจะพลิกฟื้นไปตรวจดูกรรมเก่าในอดีตชาติได้ และศาสตร์อันประเสริฐที่เกิดจากพลังทางสมาธิจิต หรือไสยศาสตร์นั้น ก็สามารถที่จะหยั่งรู้ถึงกรรมเก่าในอดีตชาติได้

ฉะนั้น ศาสตร์ทั้งสองนี้ จึงเป็นสิ่งที่พัวพันกันอยู่ โดยมีท่วงทำนองความเป็นไปคล้ายคลึงกัน แตกต่างกันที่ว่า สามารถหยั่งพยากรณ์ลงไปได้ตื้นลึกกว่ากันเท่านั้น ซึ่งพอที่จะอนุมานได้ว่า โหราศาสตร์ คือ บันไดขั้นแรกของไสยศาสตร์นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น